วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

กิจกรรมที่ 10 เรียงความเรื่องแม่
               
            ฉันไม่รู้ว่า แม่ ในความหมายของคุณหมายความว่าอย่างไร แต่กับฉันมันคือทุกอย่างในชีวิต เป็นมากกว่าธนาคารเมื่อเราเงินหมด  เราไม่ได้ฝากแต่เราสามารถถอนได้ทุกเวลา  เป็นคนที่ให้อภัยเราได้เสมอเมื่อยามที่เราทำผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่  เป็นแสงเทียนให้เรายามเรามืดมนไม่มีทางที่จะไป  เป็นนางฟ้าที่คอยเสกสรรสิ่งต่างๆมาให้เราเมื่อเราต้องการมัน เป็นคุณครูคอยสั่งสอนเราให้เป็นคนดี  เป็นเพื่อนยามที่เรามีปัญหา  เป็นที่พักพิงใจยามที่เราเหนื่อยล้า  และยังเป็นอีกมากมายที่ไม่สามารถบรรยายได้หมด    ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่รักเราได้เท่ากับแม่อีกแล้ว
             ตั้งแต่ที่ฉันจำความได้ฉันก็อยู่กับตาและยาย  ส่วนพ่อกับแม่ไปทำงานที่กรุงเทพ  เพื่อส่งเงินมาให้ลูกๆที่อยู่ข้างหลัง  ฉันเข้าใจในสิ่งที่พ่อกับแม่ต้องปล่อยให้ฉันอยู่กับตาและยาย   ฉันไม่เคยที่จะน้อยใจท่านเลยแต่มันกลับทำให้ฉันรู้สึกรักท่านมากขึ้นเพราะฉันรู้ว่าทุกสิ่งที่ท่านทำไม่ใช่เพื่อใครแต่ท่านทำเพื่อลูกทุกคน 
             ยายไม่เคยทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันขาดความรักจากแม่สักนิด  แต่ยายมาทำให้คำว่าความรักของแม่เติมเต็มขึ้นมา   คอยสอนฉันให้เป็นคนดี  สอนให้ทำทุกอย่างเป็น  สอนให้เป็นคนรู้จัก ให้ มากกว่า รับ  ยายก็เป็นเสมือนแม่ของฉันคนหนึ่ง  ถึงท่านไม่ได้อุ้มท้องฉันมา  แต่ท่านเป็นคนที่คอยดูแลฉันมาตลอด  คอยอบรมดูแลฉัน  ความรักที่ท่านมีให้ฉันมันคือความรักที่บริสุทธิ์ ไม่เคยที่จะหวังผลตอบแทน  แค่อยากเห็นหลานคนนี้เป็นคนดี  มีความสุข  แค่นี้มันก็ทำให้ท่านมีความสุข
             คำว่าแม่อาจหมายถึงผู้ที่ให้กำเนิดเรามาสำหรับหลายคน  แต่สำหรับฉันคือผู้ที่คอยให้ความรักความดูแลเราไม่ว่าคนๆนั้นจะให้กำเนิดเรามาหรือไม่แต่ท่านก็เปรียบเสมือนแม่ของฉันคนหนึ่ง  และตราบที่ฉันมีชีวิตอยู่ฉันจะทำทุกสิ่งเพื่อให้ท่านมีความสุข


กิจกรรมที่ 9 ลักษณะของชั้นเรียนที่ดี
การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
          บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน   ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้
การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ
          การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ เป็นการจัดวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมตลอดไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมความรู้ เช่น ป้ายนิเทศ มุมวิชาการ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะวางสื่อการสอน ฯลฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจ แก่ผู้พบเห็น ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว การจัดบรรยากาศทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การจัดสิ่งต่อไปนี้
1.การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน
            1.1   ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน
            1.2   ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว
            1.3   ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน
            1.4   ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลม ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน
            1.5   ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน
            1.6   แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ
 2.การจัดโต๊ะครู
            2.1   ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย
            2.2   ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน
3. การจัดป้ายนิเทศ  ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย
            3.1    จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แกนักเรียน
            3.2    จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน
            3.3    จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้
            3.4    จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง

กิจกรรมที่ 8 ครูมืออาชีพในทัศนะคติของข้าพเจ้า
           ในทัศนะคติของข้าพเจ้าครูมืออาชีพจะต้องมีคุณภาพการสอน     สิ่งที่ครูมืออาชีพควรตระหนักเป็นอย่างยิ่งก็คือ “คุณภาพการสอนซึ่งเป็นความสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคน   ครูมืออาชีพ จึงต้องมีความสามารถต่อไปนี้
        1. สามารถประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ และการจัดระบบ ได้อย่างเหมาะสมกับการเรียนรู้และความต้องการทางการศึกษาของผู้เรียน สภาพแวดล้อมของโรงเรียนและสาระการเรียนรู้ที่สอน
        2. สามารถติดตามการเรียนรู้ผู้เรียนเป็นรายบุคคล ใช้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่มและเป็นชั้น
 
       3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างอิสระ ฝึกการใช้ภาษา คาดหวังให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการเรียนรู้
       4. พัฒนาความสัมพันธ์เชิงจรรยาบรรณ  บนพื้นฐานทักษะการสื่อสารที่ดีให้การยอมรับผู้เรียนทุกคน และคาดหวังจะได้รับการยอมรับจากผู้เรียน

       5. มีความรู้ที่ทันสมัย และสนับสนุนข้อคิดเห็นที่มีต่อหลักสูตรอย่างกระตือรือร้น
       6. เชื่อความสามารถในการเรียนของผู้เรียนทุกคน คาดหวังว่าผู้เรียนทุกคนเรียนรู้และส่งความคาดหวังนี้ไปยังแต่ละบุคคล โรงเรียนและชุมชน

       7. กระตือรือร้นในการฝึกผู้เรียนเข้าสู่ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้เรื่องที่ผู้เรียนเห็นว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของตน
 
      8. ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความเชื่อมโยง เข้าใจความสัมพันธ์ลักษณะของครูมืออาชีพ
ลักษณะของครูมืออาชีพ
        1) สอนดี
                - จัดกระบวนการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ
                - จัดสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัด ความต้องการและตามสภาพของผู้เรียน
                - จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้คิด ปฏิบัติและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
                - จัดการเรียนรู้ที่เน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรมและกระบวนการเรียนรู้
               - จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสาถานที่ สามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
               - จัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองจากเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
        2) มีคุณธรรมและวินัย
               - ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูและจรรยาบรรณครู
               - ปฏิบัติตามระเบียบ วินัยข้าราชการครู
         3) ใฝ่ก้าวหน้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
                - พัฒนาตนเอง
                - ศึกษาหาความรู้ เพิ่มพูนทักษะและมีเจตคติที่ดีในการปฏิบัติงาน
                - พัฒนาการเรียนการสอน
                - จัดกระบวนการเรียนรู้ที่บ่งชี้ว่า สอนดี อย่างต่อเนื่อง
                - พัฒนาผู้เรียน
                 - มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้ ดี เก่ง และมีสุข


วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

ทดสอบปลายภาค
4.ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นและประเมินวิชานี้ว่า การเรียนรู้โดยใช้บล็อก นักศึกษามีวิธีการเรียนรู้อย่างไร แสดงความคิดเห็นหากจะเรียนรู้โดยใช้บล็อก ต่อไปข้างหน้าโอกาสจะเป็นอย่างไร ควรที่จะให้คะแนนวิชานี้อย่างไร และหากนักเรียนต้องการจะได้เกรดในวิชานี้
          การเรียนรู้โดยการใช้บล็อกเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเรียนการสอนในปัจจุบัน  ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะในการเรียนโดยการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้
  ซึ่งวิชานี้นำเอาบล็อกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนซึ่งเกิดประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนมาก เช่น จะทำให้สะดวกในการทำงานไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว  สามารถสั่งงานโดยผ่านทางบล็อก  ส่งงานทางบล็อก  ได้ความรู้ในการทำบล็อกเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนต่อไป  ได้เทคนิคใหม่ๆในการทำบล็อก   เมื่อเราทำงานส่งอาจารย์เสร็จหรือเรียนรายวิชานี้จบไปแล้วเราก็สามารถเข้าไปอ่านหรือดูงานที่ผ่านมาได้  ชอบเรียนวิชานี้เพราะในการทำงานส่งแต่ละครั้งสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองลงไปได้ ให้เวลาในการทำงานพอสมควร  สามารถทำงานส่งที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องส่งในห้องเรียน และที่สำคัญอาจารย์ใจดี  เก่ง  ต่อไปน่าจะมีการเรียนการสอนโดยการใช้บล็อกต่อไป  ถ้าคะแนนเต็ม 10 ดิฉันให้เต็ม 10  และในรายวิชานี้อยากได้เกรด A คะ เพราะในการเรียนดิฉันตั้งใจเรียน  ทำงานด้วยตนเองไม่เคยลอกใคร  แต่ดิฉันเคยขาดเรียนโดยมีเหตุจำเป็น 2 ครั้ง โดยใจจริงแล้วไม่อยากขาดเรียนหรอกคะ และงานบางชิ้นอาจจะส่งไม่ทันเวลาเพราะไม่สะดวกในด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ต  เพราะพักอยู่หอนอก  เรื่องเกรดในวิชานี้แล้วแต่อาจารย์จะพิจารณาคะ

ทดสอบปลายภาค
3.อ่านบทความครูกับภาวะผู้นำของ ผศ.ดร.สมาน คำฟูแสง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับครู ให้ยกตัวอย่าง ประกอบ แสดงความคิดเห็น
ครูและภาวะผู้นำ
     พูดถึงเรื่องภาวะผู้นำที่ดีนั้น  ควรทำให้ผู้อื่นเห็นถึงศักยภาพของเราอย่างแรกคือ การสร้างความศรัทธาในตัวเราให้เกิดขึ้นก่อน  ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพ  การพูดจา  การวางตัวในสังคม    ต่อมาคือการสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้อื่น  ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่การงานที่มีความรับผิดชอบ  การเป็นผู้นำที่ดีในองค์กรที่ตนทำงาน  การเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือได้  เราจะต้องทำให้ผู้อื่นเห็นว่าเราสามารถนำให้ทีมไปสู่ความสำเร็จให้ได้  อย่างที่สามคือ สร้างแรงบันดาลใจ คือการเป็นแบบอย่างที่ดี  ที่ทำให้ผู้อื่นเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน  สุดท้ายคือการยอมรับในการเป็นปัจเจกบุคคล  การอยู่ร่วมกันในสังคมก็จะต้องมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงควรยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล  ไม่ยึดถือความคิดตนเป็นหลัก  ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเพื่อหาข้อสรุปที่ดีที่สุด จะทำให้การทำงานออกมาดีเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม และจะประสบความสำเร็จในงานทำ
         ครูและภาวะผู้นำเกี่ยวข้องกันคือ ครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็กนักเรียน  ปฏิบัติตนให้นักเรียนเกิดความ “ศรัทธาในตัวครู”  จะต้อง “สร้างความไว้วางใจ” เพื่อนักเรียนสามารถที่จะเข้ามาปรึกษาปัญหา  ซักถามข้อสงสัย  และกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่  ครูต้องเป็นแบบที่ดีเพื่อ “สร้างแรงบันดาลใจ” ให้นักเรียนนำแบบอย่างที่ดีนี้ไปปฏิบัติตน  ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย  การพูดจา  การทำงาน  การมีระเบียบวินัย  ฯลฯ  ครูจะต้อง “ยอมรับในความเป็นปัจเจกบุคคล”  ครูต้องยอมรับในความแตกต่างของเด็กแต่ละคน  พื้นฐานครอบครัวของเด็กและพยายามสนับสนุนในสิ่งที่เด็กถนัด  ไม่มองว่าเด็กคนนี้เก่ง  คนนี้โง่  คนนี้รวย  คนนี้จน  แต่ควรจะให้ความยุติธรรม  ไม่ควรสนใจเด็กคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษแต่ต้องให้ความสำคัญกับเด็กทุกๆคนให้เท่าๆกัน
          ครูที่มีภาวะผู้นำทางวิชาการควรจะต้อง เป็นผู้ที่ทันเหตุการณ์ ข่าวสาร อยู่ตลอดเวลา  เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ใฝ่เรียนหาข้อมูล ความรู้ใหม่ๆอยู่ตลอด  มีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กแต่ละคนที่ตนรับผิดชอบ  สนับสนุนให้เด็กกล้าที่จะแสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำ  ให้เด็กได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  และท้าทายให้เด็กรู้จักคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  การทำในสิ่งที่ถูกต้อง  สนับสนุนในความถนัดของเด็กแต่ละคน    

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555


ทดสอบปลายภาค
2.อ่านบทความเรื่องสมาคมอาเซียนอ่านบทความอย่างน้อย 3 บทความหรือมากกว่า ใช้ Keywordว่า "สมาคมอาเซียน" ให้เขียนวิเคราะห์ ประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน การเตรียมตัวเป็นครู นักเรียน นักศึกษา เพื่อไปสู่อาเซียนได้อย่างไร 
              ประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน ก.ค.2504 เพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง
http://xn--42cle0dg2bid7g0axd4b6k.net/

             อาเซียนหรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  (ASEAN : The Association of South East Asian Nations) ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2510 โดยประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่อมาในปีพ.ศ.2527 บรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้ามาเป็นสมาชิก ตามด้วยเวียดนามเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อ พ.ศ. 2538  ขณะที่พม่าและลาวเข้ามาเป็นสมาชิกใน พ.ศ.2540 และประเทศสุดท้ายคือกัมพูชา เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เมื่อ พ.ศ. 2542  ปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ     
http://hilight.kapook.com/view/67028

             สำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นผู้นำในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง จึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประชาอาเซียน โดยจะมุ่งเน้นเรื่องการศึกษา ซึ่งจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ที่จะมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่น ๆ ให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน และจะมีการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาเซียนศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ หลักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสาร ระหว่างกันในประชาคมอาเซียน
http://news.muslimthaipost.com/content.php?page=sub&category=79&id=10073
       
วิเคราะห์ ประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน การเตรียมตัวเป็นครู นักเรียน นักศึกษา เพื่อไปสู่อาเซียนได้อย่างไร
 
      การศึกษาเป็นตัวสำคัญในการพัฒนาประเทศเป็นอย่างยิ่ง  เราจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก  ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศของเราก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน  ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  การศึกษา ตลอดจนการใช้ภาษาในการสื่อสาร  คนไทยยังด้อยในเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมากจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการสื่อสารอีกมาก  มีการส่งเสริมให้แต่ละโรงเรียนเริ่มสอนวิชาอื่นๆเป็นภาษาอังกฤษ  การสอดแทรกภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความเคยชินแก่ประชาชน  มีการเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องสมาคมอาเซียนเพื่อให้ทุกคนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะเข้ามา   จะเห็นได้ว่าภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเข้าสู้ประชาคมอาเซียนเพราะการจัดตั้งประชาคมอาเซียนมีสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 10 ประเทศ จึงต้องมีภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อให้เข้าใจร่วมกัน  ต่อไปสมาชิกทั้ง 10 ประเทศก็จะมีการเปิดประเทศเพื่อให้มีการติดต่อซื้อขาย  แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม  ส่งเสริมความร่วมมือแต่ละประเทศเพื่อการพัฒนาไปด้วยกัน  ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นครู  นักเรียน  นักศึกษา  ตลอดจนประชาชนทั่วไปก็จะต้องเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคตที่จะตามมา  ในแต่ละประเทศก็ควรให้ความรู้แก่ประชาชนในประเทศในเรื่องประชาคมอาเซียนให้เกิดความเข้าใจ จะต้องมีแผนงานในการเตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อให้เข้าสู้ประชาคมอาเซียนด้วยความภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆที่จะเข้ามาด้วยความมั่นใจ
ทดสอบปลายภาค

      1.แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา ให้นักศึกษาอ่านบทความอย่างน้อย 3 บทความหรือมากกว่า ใช้ Keywordว่า "แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา"ให้เขียนเชื่อมโยง วิเคราะห์ลงในบล็อกของนักเรียน     
         ในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ( Learning Society )  ในปัจจุบันนั้น สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจะมีบทบาทสำคัญค่อนข้างมากต่อการนำมาใช้ในการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพทางการเรียนในสังคมยุคใหม่ในปัจจุบันที่สื่อการศึกษาประเภท คอมพิวเตอร์ ( Computer )”จะมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในศักยภาพการปรับใช้ดังกล่าว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาไทยตามนโยบายการแจกแท็บเล็ตเพื่อเด็กนักเรียนในปัจจุบันโดยมุ่งเน้นให้กลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามโครงการ One Tablet PC Per Child ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้นั้น เป็นการสร้างมิติใหม่ของการศึกษาไทยในการเข้าถึงการปรับใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล ) ได้กล่าวไว้ว่าการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนโดยเริ่มด าเนินการในโรงเรียนน าร่องส าหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  ปีการศึกษา 2555  ควบคู่กับการพัฒนาเนื้อหาสาระที่เหมาะสมตามหลักสูตรบรรจุลงในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต รวมทั้งจัดระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายในระดับการใช้ การบริหารและในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
   http://www.kan1.go.th/tablet-for-education.pdf                                                                                                                   
          รศ.ยืน ภู่วรวรรณ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มก. กล่าวว่า แท็บเล็ตมีข้อได้เปรียบกว่าโน้ตบุ๊ก เพราะใช้งานได้สะดวก ไม่มีแป้นพิมพ์ น้ำหนักเบา กินไฟน้อยกว่า ใช้หน้าจอแบบสัมผัส มีความคล่องตัว เพราะใช้กับโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นสำเร็จรูป แต่ป้อนข้อมูลได้ช้าถ้าจะใช้งานให้ดีต้องเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้อมูลจากโลกอินเทอร์เน็ต อีกทั้งหน้าจอจะเสียหายได้ง่าย
          แท็บเล็ต เป็นเครื่องมือให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและเร็วกว่าที่จะจดจำเอง รูปแบบการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนจากการสอนเป็นการเรียนรู้และแสวงหาด้วยตนเอง เปลี่ยนจากเน้นเนื้อหาในกรอบหลักสูตรมาเป็นเน้นทักษะ ความคิดและกระบวนการ แม้ว่าหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ แต่สถานศึกษาปรับตัวช้ามาก
          "การศึกษาในยุคใหม่ กระบวนการเรียนรู้มีความสำคัญมาก ครูมิใช่ผู้มอบความรู้ แต่เป็นผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียน คนรุ่นใหม่ควรได้รับการพัฒนาให้เรียนรู้ได้เองตลอดชีวิต มีทักษะและกระบวนการอ่าน เขียนเป็นในยุคดิจิติล การใช้แท็บเล็ตต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ และใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีอื่นด้วย ไม่ใช่ใช้แท็บเล็ตแทนหนังสือหรือสื่อ"
               คุณลักษณะของแท็บเล็ตที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้นั้น สามารถสนองต่อความต้องการทางการเรียนรู้รายบุคคล สามารถติดตามช่วยเหลือให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ได้ เป็นสื่อที่ทำให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างมีความหมาย ซึ่งการเรียนรู้บางครั้งต้องอาศัย "การจำลองสถานการณ์" หรือ "การทดลองเสมือนจริง" ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และช่วยแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ผ่านช่องทางสื่อสารหรือเครือข่ายสังคมต่างๆ

            "การใช้แท็บเล็ตให้ได้ผลจึงขึ้นอยู่กับครู ที่จะออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของเด็กผสมผสานกับกระบวนการต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งยากกว่าการบรรจุสื่อลงในแท็บเล็ต เด็กๆ ที่ใช้แท็บเล็ตตั้งแต่เล็กจะรับรู้และคุ้นเคยกับเทคโนโลยีและสร้างโลกส่วนตัว เริ่มรู้สึกว่ามีอิสรภาพทางความคิด สังคมและความรู้มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว อุปกรณ์เครื่องมือที่เป็นวัตถุมีความสำคัญมากล้น แต่จิตวิญญาณอาจจางลง โลกจะกลับมาทำให้ผู้คนไม่สนใจคนข้างเคียง ไม่อยากพูดคุยกับคนที่อยู่ใกล้"
    http://www.chusak.net/index.php?mo=3&art=41993028                                                                
ด้านการเรียน
       การใช้แท็บเล็ต(Tablet) โดยให้ผู้เรียนและผู้สอนมีแท็บเล็ตพีซีเป็นของตนเองอย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิผล โดยพบว่าการใช้แท็บเล็ตเป็นการสร้างแรงจูงใจของผู้เรียนและมีผลกระทบในทางบวกต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อีกทั้งช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง เข้าถึงองค์ความรู้นอกห้องเรียนอย่างกว้างขวาง
ด้านหลักสูตร
       สำหรับด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนนั้นพบว่า  การใช้แท็บเล็ตพีซีนั้นช่วยส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอน  และส่งเสริมให้มีการพัฒนาหลักสูตรหรือการจัดการเรียนการสอนที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนประกอบมากขึ้น  อย่างไรก็ตามการสร้างให้เกิดผลสำเร็จดังกล่าวนั้นต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนและการจัดการในด้านต่างๆจากผู้บริหารเช่นการสนับสนุนให้มีเครือข่ายสื่อสารแบบไร้สาย(Wireless Network)และเครื่องสายแบบไร้สาย (Wireless Data Projector) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสามารถสร้างและใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการประกอบการเรียนการสอนในสถานศึกษาต่อไป         
            ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุดสำหรับครูไทย คือ ต้องต้องแก้ไขข้อบกพร่องที่มีอยู่และจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีอย่างเพียงพอ และพัฒนาบุคลากรในการใช้แท็บเล็ต  เพื่อให้ครูเกิดความคุ้นชิน และมีทักษะ ในการใช้แท็บเล็ตอย่างมีประสิทธิภาพ  อีกทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนและผู้สอนมีความกระตือรือร้นและมีเวลาเพียงพอที่จะได้ทดลองและสร้างนวัตกรรมการใช้งานแท็บเล็ต ของตนเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการจัดการเรียนการสอน  และก้าวไปสู่การศึกษาสากลเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ  มิใช่เป็นเพียงม่านบังตาที่ฝรั่งเห็นแล้วอมยิ้ม  เพราะการศึกษาของไทยยังต้องพัฒนาอีกมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว                                                                                                       
   http://www.gotoknow.org/blogs/posts/492166                                                                             

วิเคราะห์ แท็บเล็ตเพื่อการศึกษา
           ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญมากไม่ว่าจะเป็น ด้านการสื่อสาร  การติดต่อซื้อขายสินค้า ด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆและเทคโนโลยียังเป็นมีบทบาทสำคัญในด้านการศึกษา  รัฐบาลจึงมีนโยบายในการนำเอาเทคโนโลยีตัวหนึ่งเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาด้านการศึกษาของไทยให้ก้าวทันโลกนั้นคือ แท็บเล็ต ซึ่งได้รับความนิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน  แท็บเล็ตช่วยในการศึกษาได้เป็นอย่างมากแต่ในทางกลับกันถ้าเด็กๆที่ใช้  ไม่รู้วิธีใช้ประโยชน์ที่เหมาะสมแล้วก็จะเป็นปัญหามากมายเช่นกัน  การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เป็นการดีแต่เด็กควรจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากพ่อแม่ ครู อาจารย์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เด็กนำแท็บเล็บไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม  และควรจำกัดเวลาในการใช้เพื่อให้เด็กมีความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างบ้างเพื่อเป็นการพัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา  ร่างกาย  จิตใจ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข